ไทย - พม่า เพื่อเสริมสร้างสายสัมพันธ์อันดีระหว่าง ชาวไทย กับ ชาวพม่า

วันอาทิตย์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ภาษาพม่า ง่ายนิดเดียว บทที่ 1

ภาษาพม่าง่ายนิดเดียว บทที่1

เมื่อวาน ไปดูหนังเรื่อง พระนเรศวร ประทับใจในฉากที่สุดอลังการมาก ๆ ครับ แต่จริงๆแล้วนักประวัติศาสตร์พม่า รวมถึงท่านอาจารย์ชาวพม่าที่สอนภาษาให้ผม ท่านไม่ปลื้มประวัติศาสตร์ไทยเท่าไหรนัก ก็คงเหมือน ๆ กับที่เราไม่ปลื้มประวัติศาสตร์พม่า และก็คงที่ชาวเกาหลีไม่ปลื้มประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นอีก

ชื่อในภาษาพม่านั้น ปกติเราจะได้ยินชื่อ หม่อง เยอะสุด เหมือน ๆกับที่ชาวเวียตนามมี ชื่อเหงียนแทรกอยู่ แต่จริงๆแล้ว หม่อง มิได้อ่านว่า หม่อง หากแต่ อ่านว่า หม่าว (แต่จะแทรกเสียงกะสด ง มาหน่อยนึง แต่ส่วนมากชาวพม่าไม่ออกเสียง ง เลย)

อ่องก็เช่นกัน ออกเสียงว่า อ่าว

อองซานซุจี ก็เป็น อ่าวซั่นซุจี่
พระเจ้า บุเรงนอง เป็นชื่อที่เราได้ยินบ่อยๆ แต่ชาวพม่าจะออกเสียงว่า บะยินน่าว

อย่างประเทศไทยเราเนี่ย ชาวพม่าไม่ได้เรียกว่า สยาม หรือเสียม หรือไทย แต่เขานิยมเรียกเราว่า โยเดีย หรือ โยดะยา ซึ่งเขาบอกว่า แปลว่า คนที่แพ้ ส่วน อโยเดีย หรือ อโยดยา นั้น แปลว่า คนไม่แพ้
ประมาณว่า คำเรียกชื่อประเทศเรา มีนัยะในเชิงข่มหน่อยๆ
(อันนี้ผมถามจากเพื่อนคนหนึ่งนะครับ อาจมีความเห็นอื่นๆ)

มาดูภาษาพม่าทั่วไปบ้างนะครับ
มินกะลาบา แปลว่า สวัสดี มาจากคำว่า มังคละ ภาษาไทยก็ยืมเช่นกัน มงคล ไง
ตั๊กกะโต่ แปลว่า มหาวิทยายาลัย มาจากคำว่า ตักศิลา ซึ่งคนไทยก็เข้าใจความหมายนี้ดีครับ
ปะทะมะ ก็ ปฐม หรือประถม
ดุดิยะ ก็ ทุติยะ
ตะติยะ ก็ตติยะ

เน่ กาว ลา แปลว่า สบายดีไหม?

เน = สุขภาพ
กาว = ดี
ลา = ไหม
คำว่า ลา จะลงท้ายประโยคคำถามทุกคำถาม ถ้าใครเรียนญี่ปุ่น ก็จะคล้ายๆคำว่า ก๊ะ ของญี่ปุ่นด้วยนะครับ
และถ้าพิเคราะห์ดูดีๆ ภาษาพม่าจะมีโครงสร้างคล้ายๆญี่ปุ่น อีกทั้ง ตัวเขียนหลายตัวคล้ายคลึงกันมากๆ
แต่ที่คล้ายที่สุดก็โครงสร้าง เพราะอะไร จะมาอธิบายด้วยหลักทางประวัติศาสตร์ทีหลังครับ มีอาจารย์ท่านหนึ่งอธิบายไว้ น่าสนใจมาก ๆ

มินกะลาบา สวัสดี
เน่ กาว ลา สบายดีไหม
ทะมินซา ปี๊ปี่ ลา ทานข้าวหรือยัง
ซาติ่น ปี๊ปี่ ลา เรียนเสร็จหรือยัง

ทะมิน แปลว่า ข้าว
ปี๊ปี่ แปลว่า เสร็จ
ลา ลงท้ายประโยคคำถาม
ซาติ่น แปลว่า เรียนหนังสือ

ตัวเลขพม่า

1 อ่านว่า ติ๊ด
2 อ่านว่า นิ๊ด
3 อ่านว่า โตง
4 อ่านว่า เล
5.อ่านว่า งา
6 อ่านว่า เช่า
7 อ่านว่า คุน หรือ คุนนิด
8 อ่านว่า ชิด
9 อ่าน โก
10 อ่านว่า แซ่

วันนี้พอแค่นี้ก่อนนะครับ

เจซูติ่นบาแด แปลว่า ขอบคุณ

เน๊า เนะ เตวะ แหม นอ แปลว่า เจอกันวันหลัง

วันจันทร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2552

"แจ๋ว" ไม่มีวันตาย แค่เลือนหายจากความทรงจำ

"แจ๋ว" ไม่มีวันตาย แค่เลือนหายจากความทรงจำ

ธนารักษ์ ณ ราช

ใครหลายอาจจะจดจำบทบาทหนึ่งในละครหลังข่าวที่เป็นสาวใช้จากบ้านนอกที่แสนซื่อและแสนเชยอย่าง แจ๋ว ได้เป็นอย่างดี ตัวละครที่แม้จะมีหน้าที่เพียงสร้างจุดเกาะเกี่ยวบนความสัมพันธ์ระหว่างนางเอกแสนดีกับพระเอกรูปงาม ฐานะดี ชาติตระกูลสูงส่ง ให้มารักกันในตอนท้าย และทำให้ละครสนุกสนานครื้นเครงมากขึ้น

แต่จะมีสักกี่คนที่จะสังเกตเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งของละครหลังข่าวหรือหนังร่วมร่วมสมัย ในฐานะที่เป็นจดหมายเหตุที่คอยจดบันทึกเรื่องราวต่างๆของสังคมในยุคนั้นๆได้ว่า แจ๋วหายไปไหนและใครมาแทนที่เธอ

มะขิ่นคือตัวแทนผู้มาไกล เธอข้ามภูเขาสูง เดินฝ่าป่ารกชัฏ ตะลุยข้ามแม่น้ำสาละวินอย่างบากบั่น ก่อนจะข้ามพ้นพรมแดนฝั่งตะวันตกเพื่อมาครอบครองปรปักษ์บนพื้นที่สาธารณะที่เคยเป็นของแจ๋ว ที่กำลังเลือนหายไป จนใครๆ ก็พากันลืมแจ๋วกันหมด

การหายไปจากแจ๋วจากบทบาทสาวใช้นั้น ส่วนหนึ่งอาจตีความได้ว่า คนไทยมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพราะอย่างน้อย สาวๆ จากชนบทก็ไม่ต้องมาคอยทำงานรับใช้ชนชั้นกลางในเมืองกรุงหรือเมืองใหญ่อีกต่อไป หรือนี่อาจใช้เป็นดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจอย่างหนึ่งในแง่ของการพัฒนาชนบท

แต่บรรดา "มะขิ่น" ที่หนีทั้งภัยอดอยากและภัยจากการปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหารเข้ามาทำงานเป็นสาวใช้นั้น ไม่ได้ราบรื่นเหมือนกรณีของแจ๋ว เพราะอคติทางชาติพันธุ์และประวัติศาสตร์คอยตีตราทางสังคมแก่มะขิ่นอยู่ตลอดว่า เธอเป็นมาจากพม่า ประเทศที่ครั้งหนึ่งเคยยกทัพบุกมาเผาบ้านเผาเมือง

ซ้ำร้ายที่ข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์รายวันแทบทุกหัวต่างพากันเล่นพาดหัวประเด็นอคติที่ฝังรากลึก คอยผลิตซ้ำแทบทุกวันว่า มะขิ่นไว้ใจไม่ได้ มะขิ่นชอบยกเค้านายจ้าง หรือมะขิ่นก่อเหตุฆ่าชิงทรัพย์นายจ้าง นี่คือหลากหลายข้อกล่าวหาที่แจ่วแทบจะไม่ถูกกล่าวหามาก่อน

แต่หากจะพูดถึงความเป็นจริงแล้ว มะขิ่น ในบริบทของสังคมไทยอาจจะเป็น สาวไทใหญ่ สาวกะเหรี่ยง สาวคะฉิ่น สาวชิน สาวมอญ หรืออาจจะเป็นสาวพม่าแท้ๆ แต่ทุกชาติพันธุ์ของมะขิ่นก็ถูกสังคมไทยเรียกพวกเธอว่า สาวใช้พม่า แม้อาจจะถูกต้องหากจะพิจารณาถึงประเด็นของรัฐชาติในยุคสมัยใหม่ แต่อย่างน้อยประเด็นดังกล่าวก็สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่ว่า คนไทยยังขาดความเข้าใจต่อความหลากหลายทางชาติพันธืของประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่า เพราะชาติพันธุ์ต่างๆที่พูดถึงข้างต้นนั้น ล้วนแล้วแต่มีภาษา วัฒนธรรมที่แตกต่างกัน และที่สำคัญทุกชาติพันธุ์ต่างพยายามสร้างอัตลักษณ์ของตัวเองให้โดดเด่นอยู่เสมอมา

ตัวอย่างที่น่าจะอธิบายถึงปัญหาการขาดความเข้าใจของสังคมไทยต่อประเด็นนี้ได้อย่างชัดเจนคือ หนังไทยเรื่อง อิเตมิ: อีติ๋มตายแน่ ที่นางเอกของเรื่องเป็นชาวไทยภูเขาเผ่าหนึ่งที่แต่งกายด้วยเสื้อผ้าและเครื่องประดับของหลากหลายเผ่า แต่ตัวเองเป็นกะเหรี่ยงที่มีพ่อแม่เป็นเผ่าม้ง และมีชื่อว่า มะขิ่น

ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว มะขิ่นเป็นชื่อในภาษาพม่า มะ ใช้เป็นคำนำหน้าเด็กหญิงไปจนถึงผู้หญิงก่อนวัยกลางคนในภาษาพม่า ส่วนคำว่า ขิ่น ในภาษาพม่าหมายถึง ความน่ารักน่าชัง

และมะขิ่นหรือสาวผู้น่ารักน่าชังในสังคมไทยคงต้องใช้เวลาอีกนานแสนนาน กว่าที่พวกเธอจะพบความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีเหมือนอย่างเช่นเดียวกับแจ๋ว ไม่จะเป็นกรณีที่เธอถูกคนไทยพยายามทำความเข้าใจความแตกต่างของแต่ละมะขิ่นมากขึ้น และหรือคงจะดีไม่น้อย ถ้าหากว่าบรรดามะขิ่นได้กลับไปใช้ชีวิตในบ้านเกิดฝั่งตะวันตกด้วยความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเหมือนอย่างแจ๋ว และเมื่อนั้น คงจะต้องมีตัวละครตัวใหม่ ที่เข้าสู่บทบาทเดิมๆที่ผลิตซ้ำความแตกต่างระหว่างชนชั้น ชาติพันธุ์ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

รายการบล็อกของฉัน

ผู้ติดตาม

เกี่ยวกับฉัน

เชียงใหม่, เหนือ
กลุ่มคนเล็ก ๆ เพื่อขจัดอคติต่อชาวพม่า